สมาคมธุรกิจเวชภัณฑ์สัตว์
Call Contact
092-271-2050
บทความน่ารู้ที่ผ่านมา
 
 
บทความน่ารู้
 
"โรคโคไลบาซิลโลซิส" อันตรายไก่ที่ไม่ควรละเลย (ตอนแรก)
 

โรคโคไลบาซิลโลซิส" หรือ โรคติดเชื้ออี.โคไล เป็นอีกอันตรายที่มีความสำคัญต่อการผลิตไก่ โดยเฉพาะไก่เนื้อ เพราะทำให้อัตราการตายสูงกว่าปกติ น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ประสิทธิภาพการเปลี่ยนอาหารไม่ดี และคุณภาพซากแย่ลง ซึ่งช่วงที่ผ่านมาพบการระบาดเพิ่มขึ้น ดังนั้น เกษตรกรผู้เลี้ยง และผู้ประกอบการจึงต้องไม่มองข้าม และวางมาตรการควบคุมป้องกันกำจัดโรคนี้ไม่ให้สร้างปัญหาในฟาร์ม

                ศ.น.สพ.ดร.จิโรจ ศศิปรียจันทร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า โรคโคไลบาซิลโลซิส (Colibacillosis) หรือโรคติดเชื้ออี.โคไล เป็นโรคที่พบได้บ่อย ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ โดยเฉพาะไก่เนื้อ ไก่ป่วยด้วยโรคโคไลบาซิลโลซิสมีอัตราการสูงกว่าปกติ น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ อัตราการแลกเนื้อสูง และมีผลเสียต่อสภาพซากของไก่เนื้อ อุบัติการณ์ของโรคพบมากเป็นพิเศษในช่วงเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งน่าจะสัมพันธ์กับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อยมาก ประกอบกับอาการแพ้วัคซีนนิวคาสเซิล เนื่องจากมีการใช้วัคซีนเชื้อเป็น 2 หรือ 3 ครั้ง รวมทั้งวัคซีนป้องกันโรคหลอดลมอักเสบติดต่อด้วย และถ้าไก่มีปัญหามัยโคพลาสมาอยู่ด้วยแล้วจะยิ่งมีปัญหาโรคโคไลบาซิลโลซิสมากยิ่งขึ้น

                เชื้ออี.โคไล เป็นสาเหตุในการก่อให้เกิดโรคได้โดยตรง หรือมีส่วนร่วมทำให้เกิดอาการหรือรอยโรคต่างๆ กล่าวคือ เป็นสาเหตุของการตายของเอ็มบริโอในไข่ฟัก และลูกไก่แรกเกิด สะดือและเยื่อหุ้มไข่แดงอักเสบภาวะเลือดเป็นพิษแบบเฉียบพลัน การติดเชื้อของระบบหายใจ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ช่องท้องอักเสบ ไข่แดงแตกในช่องท้อง ท่อนำไข่อักเสบ เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ อาการหัวบวม การอักเสบของเยื่อบุข้อและกระดูก นัยน์ตาอักเสบ ลำไส้อักเสบ และโคไลแกรนูโลมา

                โรคโคไลบาซิลโลซิส มีต้นเหตุจากเชื้อ อีเชอริเซีย โคไล (Escherichia coli) หรือ อี.โคไล (E.coli) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์ของเชื้อที่ก่อโรคในไก่ที่พบได้บ่อยในแต่ละประเทศอาจมีความแตกต่างกัน เช่น ที่สหรัฐอเมริกา เชื้อที่พบบ่อย คือ 01, 02 และ 078 แต่เชื้อที่พบได้จากไก่ที่เป็นโรคในประเทศไทย ซึ่งรายงานโดย เกรียงศักดิ์ สายธนู (2536) พบสายพันธุ์ 078 มากที่สุดประมาณ 12.5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสายพันธุ์อื่นๆ ได้แก่ 02,08 และ 04 พบ 10.6, 3.8 และ1.9 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ เชื้อที่พบในลำไส้และเยื่อหุ้มหัวใจของไก่ตัวเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นสายพันธุ์เดียวกัน และพบว่า เชื้อที่แยกได้จากฟาร์มเดียวกันมีพันธุกรรมใกล้เคียงกัน

                ความสำคัญของเชื้อ อี.โคไล ทางด้านสาธารณสุข เชื้อ อี.โคไล ที่แยกได้จากสัตว์ปีกที่เป็นโรค ส่วนมากไม่มีความสำคัญในการทำให้เกิดโรคสัตว์ชนิดอื่นๆ รวมทั้งในคนด้วย แต่ยังมีเชื้อบางสายพันธุ์ ที่มีความสำคัญในการทำให้เกิดอาหารเป็นพิษในคน คือ 0157 : H7 เป็นเชื้อที่เจริญได้ในไก่และพบว่า เชื้อนี้มีโอกาสปนเปื้อนจากเนื้อไก่ และก่อให้เกิดโรคในคนได้ แต่ไม่ได้พบบ่อยนัก นอกจากนี้เชื้อ อี.โคไล ทั่วๆ ไป ในไก่ยังเป็นตัวถ่ายทอดพันธุกรรม ด้านความรุนแรงหรือการดื้อยาให้กับเชื้ออี.โคไล หรือเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ ที่เป็นเชื้อในคนและสัตว์อื่นๆ ได้

                การแพร่เชื้อ ไก่อาจได้รับเชื้อ อี.โคไล โดยวิธีต่างๆ คือ 1. การแพร่เชื้อผ่านไข่ของเชื้อ อี.โคไล พบได้บ่อย และพบว่า เป็นสาเหตุให้ลูกไก่ตายได้มากๆ 2. การมีเชื้อ อี.โคไล จากมูลไก่เปื้อนมาบนเปลือกไข่ ซึ่งเชื้อสามารถแทรกตัวผ่านเปลือกไข่เข้าไปได้ การแพร่เชื้อโดยวิธีนี้ถือว่า มีความสำคัญมาก 3. ไก่อาจได้รับเชื้อ อี.โคไล ที่ฟุ้งกระจายปนกับฝุ่นละอองภายในโรงเรือน จากวัสดุรองพื้น จากสิ่งขับถ่ายของไก่ตัวอื่น หรือจากน้ำที่ใช้เลี้ยงไก่ ถ้าน้ำไม่สะอาด จะมีโอกาสทำให้เกิดโรคในไก่ได้ ด้านระยะฟักตัวของโรค ระยะเวลาที่ไก่เริ่มแสดงอาการป่วย หลังได้รับเชื้อ อี.โคไล มีระยะเวลาที่แตกต่างกันขึ้นกับลักษณะของโรค เนื่องจากเชื้อ อี.โคไล ก่ออาการของโรคได้หลายรูปแบบ ในการทดลองให้เชื้อ อี.โคไล ชนิดรุนแรงจำนวนมากในไก่ พบระยะฟักตัวของโรค 1-3 วัน แต่การเกิดโรคตามธรรมชาติ โดยมีสาเหตุโน้มนำ เช่น มีเชื้อไวรัสหลอดลมอักเสบติดต่อร่วมด้วย มักพบภาวะเลือดเป็นพิษภายหลังได้รับเชื้อ 5-7 วัน 

                สาเหตุโน้มนำที่ทำให้ไก่เกิดความเครียดและเกิดโรค โรคโคไลบาซิลโลซิสในไก่ ส่วนมากมักเกิดภายหลังจากไก่ได้รับความเครียด ร่างกายอ่อนแอลง ไก่มีอาการแพ้วัคซีน หรือไก่ได้รับเชื้อโรคชนิดอื่นมาก่อน ซึ่งสาเหตุโน้มนำที่ทำให้ไก่เกิดความเครียดและเกิดโรค ได้แก่ 1. ไก่มีเชื้อเอ็มจี และได้รับวัคซีนเชื้อเป็น เช่น วัคซีนนิวคาสเซิล วัคซีนหลอดลมอักเสบติดต่อ หรือวัคซีนกล่องเสียงอักเสบติดต่อ เป็นต้น 2. สภาพภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น จากโรคกัมโบโร หรือสารพิษจากเชื้อรา เป็นต้น 3. สภาพสิ่งแวดล้อม เช่น หนาวเกินไป อากาศแปรปรวน อุณหภูมิแตกต่างกันมากระหว่างกลางคืนและกลางวัน ล้างโรงเรือนไม่สะอาด การกกไม่ดี แอมโมเนียสูง ความชื้นสูง การระบายอากาศมากหรือน้อยเกินไป เป็นต้น 4. เชื้อ อี.โคไล อาจผ่านจากลำไส้เล็กเข้าสู่ระบบของร่างกายได้ง่ายขึ้นถ้าไก่ป่วยเป็นโรคบิด ซึ่งอาจทำให้เกิดรอยโรคที่ลำไส้

                เชื้อ อี.โคไล เป็นสาเหตุของการตายของตัวอ่อน (embryo) ในไข่ฟัก และลูกไก่แรกเกิด โอกาสที่ตัวอ่อนหรือลูกไก่ได้รับเชื้อ มักมาจากมูลไก่ที่เปื้อนอยู่ที่เปลือกไข่ หรือไข่ที่นำเข้ามาจากไก่ที่มีการติดเชื้อ อี.โคไล ที่รังไข่หรือท่อนำไข่ ตัวอ่อนที่ตายมักพบการติดเชื้อ อี.โคไล ที่เยื่อหุ้มไข่แดง ทำให้มีปัญหาลูกไก่ตายโคม หรือลูกไก่ตายหลังจากที่ฟักออกมาแล้ว ไข่แดงของลูกไก่ที่ติดเชื้อ อี.โคไล มักเปลี่ยนจากสีเหลืองอมเขียวจางๆ และมีความหนืด เป็นสีน้ำตาลผสมเหลืองและเป็นน้ำ หรือแข็งคล้ายเนยแข็ง การติดเชื้อมีเพิ่มขึ้นหลังจากลูกไก่ฟักออกมาแล้ว ซึ่งการติดเชื้อจะลดลงเมื่อลูกไก่อายุประมาณ 6 วัน การตายจะพบเรื่อยๆ จนลูกไก่อายุประมาณ 3 สัปดาห์ ลูกไก่อาจมีปัญหาสะดืออักเสบ ลูกไก่ที่ยังไม่ตาย แต่มีการติดเชื้อที่เยื่อหุ้มไข่แดงมักเจริญเติบโตช้า

                การติดเชื้อของระบบหายใจ อาจเรียกว่า โรคของถุงลม (air sac disease) ไก่ป่วยแสดงอาการทางระบบหายใจ ยืนซึม ขนยุ่ง ไม่กินอาหาร ไก่ที่เป็นโรคเรื้อรัง จะผอมแห้ง ไม่มีแรง นั่งบนข้อร่างายกายขาดน้ำ กล้ามเนื้อมีสีเข้ม จากการผ่าซาก มักพบรอยโรคถุงลมอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มตาอักเสบ อาจมีนัยน์ตาอักเสบ และท่อนำไข่อักเสบร่วมด้วย ไก่ที่ได้รับเชื้อไวรัสหลอดลมอักเสบติดต่อ เชื้อไวรัสนิวคาสเซิล หรือได้รับวัคซีนเป็นโรคทั้งสองนี้ หรือไก่มีเชื้อมัยโคพลาสมา ร่วมกับการได้รับผลกระทบจากอากาศเย็นในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยน จะเกิดการติดเชื้อ อี.โคไล ของระบบหายใจได้ง่าย ซึ่งเชื้อมักปะปนอยู่กับฝุ่นละออง และไก่หายใจเข้าไป การมีก๊าซแอมโมเนียสูงร่วมกับฝุ่นละอองในอากาศ จะทำลายขนเซลล์ของเนื้อเยื่อบุผิว ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองของระบบหายใจเป็นผลให้เกิดการติดเชื้ออี.โคไลได้ง่ายขึ้น

 

ขอบคุณแหล่งที่มา

 

 
 
 
สมาคมธุรกิจเวชภัณฑ์สัตว์
2/9 หมู่ 3 ถ.รังสิต-นครนายก ต.ลำผักกูด อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี 12110
ahpa@thaiahpa.com, nantarat.sueb@gmail.com
© Copyright @ 2012 All Rights Reseved : www.thaiahpa.com
If you have any comments or questions regarding this website, please send your email to
www.cw.in.th All users must comply with the terms and conditions provided here in.