สมาคมธุรกิจเวชภัณฑ์สัตว์
Call Contact
092-271-2050
ข่าวเด่นที่ผ่านมา
 
 
ข่าวเด่น
 
กรมปศุสัตว์เกาะติดสถานการณ์และการควบคุมโรคคอบวมที่อุทัยธานีและนครสวรรค์
 

กรมปศุสัตว์เกาะติดสถานการณ์และการควบคุมโรคคอบวมที่อุทัยธานีและนครสวรรค์

                นายสัตวแพทย์อยุทธ์  หรินทรานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่อำเภอทัพทัน อำเภอหนองขาหย่าง และอำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี รวมทั้ง ตำบลเนินกว้าว อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อติดตามสถานการณ์และควบคุมโรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมีย หรือโรคคอบวม อย่างใกล้ชิด  

                นายสัตวแพทย์อยุทธ์  หรินทรานนท์  รองอธิบดีกรมปศุสัตว์  รักษาราชการแทนอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์ได้รับรายงานจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอุทัยธานีว่า เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2557 มีกระบือและโคเนื้อ เริ่มป่วยตาย จึงนำคณะเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบในพื้นที่ต่างๆ 5 จุดของอำเภอทัพทัน อำเภอหนองขาหย่าง และอำเภอลานสัก พบว่า กระบือและโคเนื้อมีอาการคล้ายกับโรคเฮโมรายิกเซพติซีเมียหรือโรคคอบวม  มีสัตว์ป่วยจำนวน 250 ตัว เป็นโคเนื้อ 183 ตัว กระบือ 67 ตัว และตาย จำนวน 32 ตัว เป็นโคเนื้อ 17 ตัว กระบือ 15 ตัว  สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอุทัยธานีจึงได้ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตโรคระบาดชั่วคราว พร้อมทั้งออกคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานป้องกันกำจัดโรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมีย จัดเจ้าหน้าที่เข้าไปทำการรักษาพยาบาลสัตว์ป่วยโดยการให้ยาปฏิชีวนะ Ceftiofur และยาฉีดลดไข้  จัดแบ่งยาไปยังจุดเกิดโรคระบาดทั้ง 3 จุด รวมทั้งสั่งการเจ้าหน้าที่ว่าหากพบพื้นที่พบโรคใหม่ ให้รายงานการเกิดโรคระบาดเบื้องต้น และให้คณะทำงานฝ่ายรักษาพยาบาลสัตว์เข้าไปดำเนินการรักษาสัตว์ป่วยโดยเร็ว นอกจากนี้ ทางสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอุทัยธานียังแนะนำให้เกษตรกรฉีดวัคซีนสัตว์เพื่อเป็นการป้องกันโรคระบาดสัตว์ด้วย รวมทั้งให้ความรู้แก่เกษตรกรว่าไม่ควรนำซากสัตว์ที่ป่วยตายไปขาย หรือนำไปบริโภค เพราะความเสียดาย เนื่องจากการกระทำดังกล่าวจะเป็นการทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ อย่างรวดเร็ว และผู้ที่บริโภคซากสัตว์ที่ป่วยตายก็จะได้รับยาปฏิชีวนะตกค้างจากเนื้อสัตว์ที่ป่วยตายด้วย และจากนั้น นายสัตวแพทย์อยุทธ์ และคณะได้เดินทางต่อไปยัง ตำบลเนินกว้าว อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับรายงานว่ามีสัตว์ป่วยตาย คือ กระบือป่วย 25 ตัว และ ตาย 10 ตัว โดยครั้งนี้ได้ลงมือฉีดวัคซีนป้องกันโรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมียด้วยตนเองอีกด้วย

           โรคเฮโมรายิกเซพติซีเมีย หรือโรคคอบวม เป็นโรคระบาดร้ายแรงในสัตว์ที่ไม่ติดคน เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่พบอยู่ในระบบทางเดินหายใจของสัตว์ปกติ ซึ่งสัตว์จะไม่แสดงอาการป่วย แต่เมื่อมีภาวะที่ทำให้สัตว์เครียด เช่น ช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะช่วงปลายฝนต้นหนาว สัตว์จะแสดงอาการป่วย และขับเชื้อออกมาในสิ่งแวดล้อมผ่านสิ่งขับถ่ายต่างๆ และปนเปื้อนในอาหารและน้ำเมื่อสัตว์อื่นมาสัมผัสเชื้อทำให้สัตว์ป่วย และเกิดการแพร่กระจายของโรคอย่างรวดเร็ว ดังนั้น เพื่อลดความเสียหายจากโรคระบาดดังกล่าว และควบคุมโรคไม่ให้แพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่น กรมปศุสัตว์ได้กำหนดมาตรการเมื่อพบสัตว์สงสัยหรือแสดงอาการป่วยด้วยโรคคอบวม ดังนี้

1. เก็บตัวอย่างยืนยันโรค และทดสอบความไวของยาที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ของกรมปศุสัตว์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ

2. ประกาศเขตสงสัยโรคระบาดชนิดโรคเฮโมรายิกเซพติซีเมียในสัตว์ เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่วยและสัตว์ในพื้นที่

3. ทำบันทึกสั่งกักกระบือในพื้นที่พบโรคทั้งหมด

4. รักษากระบือป่วยด้วยยาปฏิชีวนะ ร่วมกับการรักษาทางอาการ เช่น ให้ยาขยายหลอดลม ยาแก้อักเสบ และยาละลายเสมหะ

5. จัดชุดเฉพาะกิจนายสัตวแพทย์ในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อรักษากระบือป่วยและฉีดวัคซีนในสัตว์ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง

6. ตั้งจุดตรวจสัตว์และซากสัตว์ เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายโค กระบือเข้า - ออกในพื้นที่

7. ฉีดวัคซีนโรคเฮโมรายิกเซพติซีเมียให้กับสัตว์ ในรัศมี 5 กิโลเมตร จากจุดเกิดโรค

8. ให้คำแนะนำตลอดจนควบคุมการทำลายซากกระบือให้ถูกสุขลักษณะโดยการฝังกลบ รวมทั้งทำลายเชื้อโรคบริเวณที่ฝังซาก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค

9. ทำลายเชื้อโรคบริเวณจุดเสี่ยง จนกว่าจะไม่พบสัตว์ป่วยเพิ่มเติม

10. เฝ้าระวังเชิงรุกทางอาการ โดยให้ปศุสัตว์อำเภอร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นค้นหาโรคในพื้นที่ และจัดตั้งศูนย์รับแจ้งสัตว์ป่วยที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ

11. ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ เฝ้าระวังโรคดังกล่าว หากพบกระบือแสดงอาการผิดปกติให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอทันที พร้อมทั้งให้ความรู้เกษตรกรเกี่ยวกับการป้องกันโรคคอบวม  

         นายสัตวแพทย์อยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ให้สังเกตอาการโค- กระบือของตนเอง หากพบสัตว์แสดงอาการป่วย ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ ปศุสัตว์จังหวัด หรืออาสาปศุสัตว์ใกล้บ้าน เข้าไปตรวจสอบหาสาเหตุทันที เพื่อจะได้ดำเนินการควบคุมป้องกันโรคระบาดสัตว์ไม่ให้ลุกลามไปยังสัตว์ที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง จะเป็นการลดความสูญเสียได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้กับกระบือ และโคที่มีอายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป โดยวัคซีนดังกล่าวสามารถคุ้มโรค ได้นานถึง 1 ปี และในช่วงที่เกิดโรคระบาดนี้ ขอให้เกษตรกรที่มีสัตว์เลี้ยงงดซื้อเนื้อโค-กระบือดิบมาบริโภค เนื่องจากอาจจะทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายสู่สัตว์เลี้ยงของตนเองอย่างรวดเร็วได้ แต่ถ้าสุกแล้วไม่มีปัญหา ซึ่งเรื่องนี้เกษตรกรอาจทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอในท้องที่ หรือโทรศัพท์ 0-2251-5700

 

 
 
 
สมาคมธุรกิจเวชภัณฑ์สัตว์
2/9 หมู่ 3 ถ.รังสิต-นครนายก ต.ลำผักกูด อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี 12110
ahpa@thaiahpa.com, nantarat.sueb@gmail.com
© Copyright @ 2012 All Rights Reseved : www.thaiahpa.com
If you have any comments or questions regarding this website, please send your email to
www.cw.in.th All users must comply with the terms and conditions provided here in.