สมาคมธุรกิจเวชภัณฑ์สัตว์
Call Contact
092-271-2050
ยาสัตว์
 
 
 
สมัครสมาชิกสมาคมเวชภัณฑ์สัตว์
 
การขอขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์
หลักฐานประกอบการขอขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์
: ชนิดอาหารสัตว์ผสมสำเร็จรูป หรือหัวอาหารสัตว์
  1. สำเนาหรือรูปถ่ายใบอนุญาตนำเข้าซึ่งอาหารสัตว์ หรือใบอนุญาตผลิตอาหารสัตว์ ที่มีผลบังคับใช้ ณ วันที่ยื่นคำขอ (ยังไม่หมดอายุ)
  2. รูปถ่ายตัวอย่างภาชนะบรรจุพร้อมข้อความที่ระบุบนภาชนะ
  3. ตัวอย่างฉลากและข้อความบนฉลาก*
  4. หนังสือรับรองผลวิเคราะห์ (โปรตีน, ไขมัน, กาก, ความชื้น) พร้อมวิธีวิเคราะห์* จากห้องปฏิบัติการในประเทศไทย
  5. หนังสือแสดงส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ (Certificate of formula)/(Certificate of ingredient) เฉพาะผลิตภัณฑ์ที่นำเข้า
  6. รายงานผลการทดลองการใช้อาหารสัตว์ผสมสำเร็จรูปหรือหัวอาหารสัตว์ (ถ้ามี)
  7. แบบแจ้งชนิดและปริมาณการใช้วัตถุที่เติมในอาหารสัตว์*
  8. เอกสารแสดงวิธีใช้หัวอาหารสัตว์* (เฉพาะหัวอาหารสัตว์)
  9. ตัวอย่างอาหารสัตว์จำนวน 500 กรัม
  10. แบบคำขอขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ประเภทวัตถุที่ผสมแล้ว ชนิดอาหารสัตว์ผสมสำเร็จรูป หรือ หัวอาหารสัตว์* (แบบ ท.ส.๒-๑)
 
: ชนิดสารผสมล่วงหน้า
  1. สำเนาใบอนุญาตนำเข้าซึ่งอาหารสัตว์ หรือ ใบอนุญาตผลิตอาหารสัตว์ที่มีผลบังคับใช้ ณ วันที่ยื่นคำขอ (ยังไม่หมดอายุ) แล้วแต่กรณี
  2. ตัวอย่างภาพเหมือนของภาชนะบรรจุหรือหีบห่อที่ขัดเจน หากมีฉลากติดควรจะให้เห็นข้อความที่ระบุบนภาชนะบรรจุ
  3. หนังสือรับรองส่วนประกอบจากบริษัทผู้ผลิตจะต้องมีรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ ดังนี้
    3.1 ชื่อทางการค้าของผลิตภัณฑ์ (อาจมีเครื่องหมายการค้า)
    3.2 ชนิด และลักษณะของผลิตภัณฑ์
    3.3 ใช้สำหรับสัตว์ชนิดใด
    3.4 ส่วนประกอบทางเคมี และส่วนผสม (ส่วนประกอบสูตร) พร้อมทั้งแจ้งว่าสื่อที่ใช้เป็นอะไร
    3.5 ขนาดการใช้
    3.6 ขนาดบรรจุ
    3.7 อายุการเก็บ (วันล่วงอายุ)
  4. หนังสือรับรองวัตถุที่เติมที่สำคัญสำหรับสารผสมล่วงหน้าที่ต่างประเทศให้ไว้เพื่อแสดงการอนุญาตให้ใช้ (Certificate of free sale) โดยใช้ตัวจริง รับรองโดยสถานทูตไทยในประเทศนั้น ๆ (เฉพาะผลิตภัณฑ์ที่นำเข้า) ต้องมีรายละเอียด ดังนี้
    4.1 เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อทางการค้าว่าอะไร (ตรงกับเอกสารผู้ผลิต)
    4.2 เป็นผลิตภัณฑ์ชนิดใด
    4.3 ผลิตโดยใคร
    4.4 ใช้สำหรับสัตว์ชนิดใด
    4.5 เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายในประเทศผู้ผลิต
  5. หลักฐานแสดงการวิเคราะห์วัตถุที่เติมในอาหารสัตว์ที่สำคัญ จากห้องปฏิบัติการในประเทศไทย โดยมีข้อความดังต่อไปนี้*
    5.1 วันที่วิเคราะห์
    5.2 ผลวิเคราะห์ที่วิเคราะห์ได้จริง
    5.3 ระบุบริษัทผู้นำเข้าและบริษัทผู้ผลิต
    5.4 ผู้รับรองผลวิเคราะห์พร้อมทั้งชื่อและตำแหน่งโดยควรจะเป็นผู้ที่รับผิดชอบในห้องปฏิบัติการ
  6. ตารางแสดงส่วนประกอบวัตถุที่เติมในอาหารสัตว์ และปริมาณสารเมื่อใช้ผสมอาหารสำเร็จรูปตามขนาดการใช้*
  7. ตัวอย่างสารผสมล่วงหน้า จำนวน 500 กรัม
  8. กระบวนการผลิตอย่างคร่าว ๆ
  9. ฉลากภาษาอังกฤษที่ปิดบนภาชนะบรรจุ (ถ้ามี)
  10. ข้อความที่ต้องระบุไว้บนฉลากภาษาไทย*
  11. แบบคำขอขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ประเภทวัตถุที่ผสมแล้ว ชนิดสารผสมล่วงหน้า (พรีมิกซ์)* (แบบ ท.ส.๒-๒)
 
อัตราค่าธรรมเนียม
(ชำระเมื่อมารับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์)
  1. ใบสำคัญการขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ สูตรละ 1,000 บาท
  2. การขอแก้ไขรายการในใบสำคัญการขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์
    (ก) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสูตรอาหาร ครั้งละ 500 บาท
    (ข) ในส่วนอื่น ๆ ครั้งละ 200 บาท
 
การพิจารณาคำขอขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์น้ำ
เมื่องานทะเบียนของสถาบันวิจัยอาหารสัตว์น้ำจืดตรวจสอบเอกสารคำขอขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้วจะดำเนินการจัดประชุมพิจารณาคำขอ ขึ้นทะเบียนสูตรอาหาร โดยคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากกองต่าง ๆ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านอาหารสัตว์น้ำ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ สุขภาพสัตว์น้ำ และกฎหมายเข้าร่วมเป็นกรรมการ คณะกรรมการจะมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ดังนี้
  1. ชื่อทางการค้าที่ขอขึ้นทะเบียนจะต้องไม่แสดงสรรพคุณเกินจริง และไม่ซ้ำกับอาหารสูตรที่ได้ขึ้นทะเบียนไปแล้ว
  2. วัตถุดิบที่นำมาประกอบเป็นอาหารสัตว์น้ำจะต้องไม่เป็นพิษต่อน้ำหรือมีสารตกค้างเป็นพิษต่อผู้บริโภค วัตถุดิบที่ใช้ผลิตอาหารสัตว์น้ำส่วนใหญ่ ได้แก่ ปลาป่น เปลือกและหัวกุ้งป่น ปลาหมึกป่น กากถั่วเหลือง ข้าวโพด กากถั่วลิสง ปลายข้าว น้ำมันปลา รำข้าว แป้งสาลี แป้งมันสำปะหลัง วิตามิน แร่ธาตุ สารเหนียว และสารถนอมคุณภาพอาหารสัตว์
  3. ต้องเป็นวัตถุดิบที่รัฐมนตรีมิได้ประกาศห้ามใช้เป็นวัตถุดิบที่เติมในอาหารสัตว์ตามประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น ห้ามใช้สารเคมีชนิดคลอแรมเฟนนิคอล ฟูราโซลิโดน และไนโตรฟูราโซน และโอลาควินด๊อกซ์เป็นวัตถุที่เติมในอาหารสัตว์ในการผลิตอาหารสัตว์น้ำ
  4. อัตราส่วนหรือปริมาณของวัตถุที่เติมในอาหารสัตว์ต้องเป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนด เช่น สารถนอมคุณภาพอาหารสัตว์อีทอกซีควิน ใช้ไม่เกินร้อยละ 0.015 เป็นต้น
  5. ห้ามใช้เนื้อป่น กระดูกป่น เลือดป่นของสัตว์ ที่มีแหล่งกำเนิดจากสหภาพยุโรป และประเทศที่มีรายงานการระบาดของโรค Bovine Spongiform Encephalopathy (BSE) เป็นส่วนผสมของอาหารปลา และไม่อนุญาตให้ใช้เป็นส่วนผสมของอาหารกุ้งเพื่อป้องกันผลกระทบต่อการส่งออกสินค้ากุ้งของประเทศ
  6. ไม่อนุญาตให้ใช้ยาหรือสารปฏิชีวนะเป็นสารเร่งการเจริญเติบโตผสมในอาหารสัตว์น้ำ เนื่องจากในสัตว์น้ำยังไม่มีเอกสารทางวิชาการยืนยันว่า สารปฏิชีวนะมีผลต่อการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ แต่ในทางตรงกันข้ามอาจมีผลทำให้เกิดการสะสมและตกค้างของสารปฏิชีวนะซึ่งไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคได้ และอาจสะสมในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ และแหล่งน้ำสาธารณะทั่วไป ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหาย และมีผลทำให้เกิดการดื้อยา
  7. กรมประมงยังไม่มีการรับขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์น้ำผสมยา
  8. สรรพคุณที่โฆษณาต้องไม่เกินจริง หรือเป็นสื่อที่อาจจะชวนเชื่อที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด
  9. วันล่วงอายุที่บริษัทผู้ผลิต/นำเข้าขอจดทะเบียนว่าเหมาะสมหรือไม่ ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของอาหาร วิธีการบรรจุ และภาชนะที่บรรจุ โดยทั่วไปอนุญาตให้บริษัทขอจดทะเบียนวันล่วงอายุของอาหารสัตว์ผสมสำเร็จรูปได้ไม่เกิน 3 เดือน วิตามินรวมไม่เกิน 12 เดือน แร่ธาตุรวมไม่เกิน 12 เดือน ถ้าเป็นวิตามินผสมกับแร่ธาตุจะมีวันล่วงอายุได้ไม่เกิน 6 เดือน
  10. คุณภาพทางเคมีและลักษณะของอาหารของกุ้งทะเล กุ้งก้ามกราม ปลาดุก ปลากินพืชน้ำจืด ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ประกอบการพิจารณาการขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์น้ำ หากไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ฯ จะต้องมีเอกสารการทดลองเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย
  11. ถ้าหากสูตรอาหารสัตว์น้ำไม่ได้คุณภาพที่กำหนด คณะกรรมการจะไม่อนุญาตให้ผลิตอาหารสูตรนั้น ผู้ผลิตจะต้องนำกลับไปปรับปรุงให้ได้คุณภาพ แล้วมาขอขึ้นทะเบียนใหม่ หากสูตรอาหารใดผ่านการพิจารณา ทางสถาบันวิจัยอาหารสัตว์น้ำจืดจะเสนอกรมประมงอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนได้ และออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ของแต่ละสูตรให้แก่ผู้ประกอบการโดยอธิบดีกรมประมงเป็นผู้ลงนาม (และออกเป็นหลักฐานให้ผู้มาขอขึ้นทะเบียนเก็บไว้ 1 ฉบับ และอีก 1 ฉบับจะเก็บเป็นหลักฐานของทางราชการ)
 
การตรวจสอบและการวิเคราะห์คุณภาพอาหารสัตว์น้ำ
  1. การตรวจวิเคราะห์คุณภาพอาหารสัตว์น้ำที่มาขอขึ้นทะเบียน
    ตัวอย่างสูตรอาหารที่ขึ้นทะเบียนกับกรมประมงจะถูกส่งไปยังห้องปฏิบัติการทางเคมีของสถาบันวิจัยอาหารสัตว์น้ำจืด เพื่อตรวจสอบวิเคราะห์ว่าอาหารสัตว์น้ำนั้นมีคุณภาพไม่ด้อยกว่าที่มาขอขึ้นทะเบียนกับกรมประมง ในกรณีที่ตัวอย่างไม่ได้มาตรฐานหรือด้อยกว่าที่ขึ้นทะเบียนไว้ ทางสถาบันวิจัยอาหารสัตว์น้ำจืดจะรีบแจ้งผู้ผลิตให้ทำการปรับปรุงจนได้คุณภาพไม่น้อยกว่าที่ระบุในฉลาก จึงจะออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์น้ำให้ หากต่อมาทางบริษัทฯไม่สามารถปรับปรุงสูตรให้เป็นไปตามที่ขอขึ้นทะเบียนได้ กรมประมงจะยกเลิกทะเบียนสูตรดังกล่าวนั้น
  2. การตรวจวิเคราะห์คุณภาพอาหารสัตว์น้ำจากการสุ่มเก็บตัวอย่าง
    ทางสถาบันวิจัยอาหารสัตว์น้ำจืดจะส่งสารวัตรอาหารสัตว์น้ำออกไปตรวจเก็บตัวอย่างที่โรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์น้ำ และฟาร์มของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อนำตัวอย่างอาหารมาวิเคราะห์คุณภาพทางเคมีว่าตรงตามป้ายฉลากที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมประมงหรือไม่ รวมทั้งมีการตรวจสอบการตกค้างของยาปฏิชีวนะบางชนิดในอาหารสัตว์น้ำ เช่น ออกซีเตตร้าซัยคลิน คลอแรมฟินิคอล ไนโตรฟูราน

    ในกรณีที่มีเกษตรกรร้องเรียน ก็จะส่งเจ้าหน้าที่ออกไปเก็บตัวอย่างอาหารสัตว์น้ำในบริเวณหรือท้องที่ที่เกษตรกรร้องเรียนมา เพื่อนำมาวิเคราะห์คุณภาพทางเคมี คือ โปรตีน ไขมัน กาก ความชื้น ตรวจสอบสิ่งแปลกปลอม ได้แก่ ขนไก่ป่น และหนังสัตว์ และคุณภาพทางกายภาพอื่นๆ รวมทั้งยาตกค้าง และชี้แจงให้เกษตรกรทราบทันทีที่ทราบผลการวิเคราะห์

    ในส่วนภูมิภาคกรมประมงได้มอบให้ประมงจังหวัด นักวิชาการประมง และเจ้าหน้าที่บริหารงานประมง ตรวจร้านขายอาหารสัตว์น้ำในท้องที่ว่าดำเนินการถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ โดยออกตรวจเป็นประจำ แล้วรายงานให้กรมประมงทราบทุกเดือน
 
 
 
 
สมาคมธุรกิจเวชภัณฑ์สัตว์
43/199 หมู่บ้านซิตี้ทาว์นโฮม ถ.ลาดพร้าว ซ.ลาดพร้าว80 แยกจันทิมา26 แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กทม. 10310
ahpa@thaiahpa.com
© Copyright @ 2012 All Rights Reseved : www.thaiahpa.com
If you have any comments or questions regarding this website, please send your email to
admin@cw.in.th All users must comply with the terms and conditions provided here in.