อาการหัวบวม เกิดจากการอักเสบของเซลล์เนื้อเยื่อบริเวณใต้ผิวหนังรอบตาและบริเวณหัว อาการหัวบวมในไก่เนื้อ ส่วนมากตรวจพบเชื้อ อี.โคไล โดยอาจมีสาเหตุโน้มนำต่างกัน ซึ่งสาเหตุโน้มนำที่พบบ่อย ได้แก่ เชื้อเอเวียนเมตานิวโมไวรัส ไวรัสหลอดลมอักเสบติดต่อบ่อยครั้งพบร่วมกับการระบาดอากาศไม่ดี และระดับแอมโมเนียสูง กระบวนการของการเกิดโรค เริ่มจากต่อมน้ำเหลืองบริเวณเยื่อตามีการอักเสบ เนื่องจากเชื้อไวรัส หรือมีการระคายเคือง จากก๊าซแอมโมเนีย ทำให้แบคทีเรียผ่านเข้าชั้นใต้ผิวหนังบริเวณรอบตาได้ ทำให้เกิดการอักเสบและบวม โดยระยะแรกของการเป็นโรค จะเกิดการอักเสบรอบเบ้าตา
เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ มักเกิดบริเวณใต้ผิวหนังที่ท้องเป็นผลจากการติดเชื้อและมีการอักเสบเรื้อรังที่ชั้นใต้ผิวหนังที่ท้องของไก่เนื้อ โดยจะพบแผ่นหนองแข็งสีเหลืองอยู่ในชั้นใต้ผิวหนังมักพบที่โรงฆ่า ทำให้ซากถูกคัดทิ้ง เชื้อที่แยกได้จากรอยโรคส่วนมากมักเป็นเชื้อ อี.โคไล แต่บางครั้งอาจพบเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่นได้ ไก่ที่มีเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ บางฝูงมีการติดเชื้อ อี.โคไล มาก่อน การเลี้ยงไก่แน่น วัสดุรองพื้นไม่ดี คุณภาพลูกไก่ไม่ดี มีส่วนเกี่ยวข้องกับเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ การอักเสบอย่างอ่อนเฉพาะแห่งรอบสะดือ พบได้ในกรณีของสะดืออักเสบ
ท่อนำไข่อักเสบ พบได้บ่อยในไก่กระทงที่เป็นโรคแบบเรื้อรัง การติดเชื้อของท่อนำไข่ อาจติดเชื้อจากถุงลม หรือเชื้อผ่านขึ้นมาจากช่องทวาร การมีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง หรือไก่ที่ได้รับฮอร์โมนสติลเบสตรอล มีส่วนเสริมการเจริญของเชื้ออี.โคไลในท่อนำไข่ในรายที่เป็นเรื้อรัง จะพบก้อนหนองสีเหลืองคล้านเนื้อแข็งอยู่ภายในท่อนำไข่ ซึ่งก้อนสีเหลืองนี้ประกอบด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาวเฮตเทอโรฟอิลที่ตายแล้ว กับเชื้ออี.โคไล ส่วนสำไส้อักเสบ เชื้ออี.โคไล มีความสำคัญในการก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหารในคน ลูกโค และลูกสุกร แต่สำหรับไก่เนื้อ เชื้ออี.โคไล มีความสำคัญไม่มากในการก่อให้เกิดลำไส้อักเสบ อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ไก่มีการติดเชื้อ อี.โคไล มักพบว่า ไก่ถ่ายออกมาเป็นน้ำ สืบเนื่องมาจากการขับถ่ายน้ำผ่านไต การอักเสบของลำสั้กเกิดขึ้นในกรณีที่ไก่มีเชื้อ อี.โคไล ร่วมกับการติดเชื้ออื่นในลำไส้ เช่น บิด
กลุ่มอาการอื่นๆ เริ่มจากภาวะเลือดเป็นพิษแบบเฉียบพลัน มักพบในไก่รุ่น หรือไก่ที่โตเต็มวัยแล้ว ไก่ที่ตายมักมีสภาพดี มีอาหารเต็มกระเพาะพัก พบการคั่งเลือดของกล้ามเนื้ออก ตับอาจเปลี่ยนเป็นสีเขียว หรือมีจุดเนื้อตายสีขาวเล็กๆ กระจายทั่วไป นัยน์ตาอักเสบ ไม่พบบ่อยนัก มักเป็นตาเดียว ทำให้ไก่ตาบอด และไก่มักตายหลังจากรอยโรคปรากฏให้เห็น ช่องท้องอักเสบ เกิดจาก ไข่แดงที่ตกลงในช่องท้องได้รับเชื้ออี.โคไลจากท่อนำไข่ จึงเกิดการอักเสบ ทำให้ไก่ตาย การอักเสบของเยื่อบุข้อและกระดูก การอักเสบที่ข้อมักเกิดหลังภาวะเลือดเป็นพิษ มักพบโรคเรื้อรัง มีผลทำให้ไก่ซูบผอม เนื่องไก่เดินไม่ได้ มักพบรอยโรคที่ข้อน่องแหลม ซึ่งตรงกับบริเวณข้อจะพบหนอง และอาจมีการอักเสบของกระดูกร่วมด้วย โคไลแกรนูโลมา มีลักษณะเป็นก้อนหนองแข็ง พบในอวัยวะต่างๆ ภายในช่องท้อง ลักษณะดูอาจคล้ายกับเนื้องอก มักไม่พบในไก่เนื้อเพราะเป็นลักษณะของโรคเรื้อรังพบลักษณะของโรคแบบนี้ในไก่ใหญ่ แต่ไม่พบบ่อยนัก ถ้ามีโรคเกิดขึ้นอาจทำให้ไก่ตาย พบรอยโรคที่ตับ ไส้ตัน ลำไส้เล็กส่วนต้น และเยื่อแขวนลำไส้
การวินิจฉัยโรค พิจารณาจากอาการหรือกลุ่มอาการ และรอยโรคต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้ว และการตรวจยืนยันโรคด้วยการเพาะแยกเชื้อ และพิสูจน์ว่า เป็นเชื้อ อี.โคไล ทั้งนี้ต้องพิจารณาด้วยว่า เชื้อ อี.โคไล เป็นสาเหตุหลักในการก่อโรคหรือเป็นเพียงสาเหตุแทรกซ้อน ซึ่งจะต้องใช้ประกอบการตัดสินใจในการให้การรักษาที่เหมาะสม ขณะที่การวินิจฉัยแยกโรค เนื่องจากลักษณะของโรคบางลักษณะ มีโอกาสเกิดจากสาเหตุอื่นได้ ดังนั้น ในการวินิจฉัยโรคต้องคำนึงถึงสาเหตุอื่นด้วยเสมอ ได้แก่ ไก่ที่มีอาการอักเสบของเยื่อบุข้อและกระดูกอาจเกิดจากเชื้อโรคอย่างอื่น เช่น รีโอไวรัส ซัลโมเนลล่า สตาฟฟิโลค็อคคัส และเอ็มเอส การอักเสบของช่องท้อง อาจเกิดจากเชื้อโรคชนิดอื่น เช่น พาสจูเรลลา และการติดเชื้อของเยื่อหุ้มไข่แดงมักมีการติดเชื้อหลายชนิดร่วมกัน
การรักษาโรคโคไลบาซิลโลซิส มีองค์ประกอบที่ต้องพิจารณา ดังนี้ 1. ควรทดสอบความไวของเชื้อ ต่อยาปฏิชีวนะชนิดต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการรักษา เนื่องจากปัจจุบันยาหลายชนิดใช้ไม่ได้ผลในการรักษาโรคที่เกิดจากเชื้อ อี.โคไล เนื่องจากใช้มานาน และมีปัญหาเชื้อโรคดื้อยา 2. ก่อนเริ่มให้การรักษาต้องพิจารณาทุกครั้งว่า เชื้อ อี.โคไล เป็นสาเหตุของการก่อโรคหรือไม่ ถ้าเป็นเพียงสาเหตุแทรกซ้อนจำเป็นต้องรักษาสาเหตุหลักของการป่วยควบคู่ไปด้วย และเพื่อประสิทธิผลที่ดีในการรักษา ต้องให้การรักษาตั้งแต่ไก่เริ่มแสดงอาการป่วย หรือตั้งแต่เริ่มพบรอยโรคที่ถุงลม จะรักษาให้หายได้ง่ายแต่ถ้าเป็นโรคแบบเรื้อรังแล้วจะรักษาให้หายได้ยาก ดังนั้น การดูแลไก่อย่างใกล้ชิดและมีโปรแกรมดูแลสุขภาพจะช่วยให้รู้ปัญหาเร็วจะได้แก้ปัญหาได้ทันที การรักษาจึงจะได้ผลดี 3. ชนิดของยาที่เลือกใช้ ต้องพิจารณาด้วยว่า ยาต้องมีโอกาสไปถึงเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่มีการติดเชื้อ จึงจะให้ผลดีในการรักษา ดังนั้น ผู้เลี้ยงหรือผู้รับผิดชอบต้องรู้ว่ายาที่ให้ มีการดูดซึมไปยังอวัยวะต่างๆ ได้ดีเพียงใด และต้องให้โดยวิธีใดจึงจะเหมาะสม
4. ในการรักษาแต่ละครั้ง ไก่ที่ได้รับการรักษาจนหายป่วยแล้วจะมีโอกาสกลับมาป่วยได้อีก หรือกรณีที่ไก่ป่วยเรื้อรังจะรักษาไม่หายขาด ในกรณีเช่นนี้เมื่อมีการให้ยา ไก่มีอาการดีขึ้นและจำนวนไก่ตายลดลง แต่เมื่อหยุดให้ยาไก่จะแสดงอาการป่วยและมีอัตราการตายเพิ่มขึ้นอีก หรือบางครั้งพบว่า อัตราการตายไม่ได้ลดลง และเมื่อเก็บไก่ที่ตายมาทำการผ่าซาก ยังพบรอยโรคที่เด่นชัดจะต้องพิจารณาว่า เป็นเพราะไก่ป่วยหนักจนเดินไปกินยาไม่ได้ ดังนั้น ไก่ส่วนนี้จะต้องตายจากสภาวะของโรค ยาจะช่วยรักษาโรคได้ก็ต่อเมื่อไก่ยังสามารถเดินไปกินยาได้ 5. นอกเหนือจากการให้ยารักษา การดูแลสภาพแวดล้อมในโรงเรือนให้เหมาะสม เช่น มีการระบายอากาศที่ดี การดูแลสภาพวัสดุรองพื้นให้เหมาะสม และแยกไก่ป่วยไว้ต่างหาก มีน้ำและอาหารให้กินอย่างเพียงพอ อาจช่วยลดการสูญเสียลงได้บ้าง กรณีของไก่ป่วยมากและไม่สามารถเดินไปกินน้ำและอาหารได้จำเป็นต้องคัดทิ้ง เนื่องจากไม่สามารถรักษาได้ และยังเป็นตัวแพร่เชื้อโรคอีกด้วย ที่สำคัญการให้ยารักษาไก่ทุกครั้ง ต้องมีระยะหยุดยาที่เพียงพอ และงดเว้นการให้ยาต้องห้ามโดยเด็ดขาด เนื่องจากในปัจจุบันไก่เนื้อที่เลี้ยงเพื่อการส่งออก ต้องเข้มงวดการใช้ยาและระยะหยุดยาอย่างมาก ประกอบกับชนิดของตัวยาที่มีใช้ในปัจจุบันมีการใช้มานาน ซึ่งส่วนใหญ่พบว่า มีปัญหาเชื้อโรคดื้อยา ดังนั้น การป้องกันโรคไม่ให้ไก่ป่วย จึงเป็นแนวทางที่ต้องตั้งใจปฏิบัติ
ขอบคุณแหล่งที่มา
|